บทนำ

บทนำ

วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ห้องสมุดเคลื่อนที่

ความหมายของห้องสมุดเคลื่อนที่
           ห้องสมุดเคลื่อนที่ (Mobile library) เป็นบริการสารสนเทศเคลื่อนที่ นับเป็นการจัดบริการในเชิงรุก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการอ่าน และการให้ความรู้และความบันเทิงแก่ผู้ที่อยู่ห่างไกลจากแหล่งข้อมูล โดยนำทรัพยากรสารสนเทศประเภทต่างๆ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์ เกมส์ ของเล่น ฯลฯ ไปยังชุมชนด้วยพาหนะ ประเภทต่างๆ เช่น รถ รถไฟ  เรือ ฯลฯ หรือบางแห่งอาจใช้วิธีการเดินทางด้วยเท้าในกรณีที่สามารถเข้าถึงด้วยพาหนะอื่น
           การดำเนินการห้องสมุดเคลื่อนที่ สามารถใช้วัสดุ อุปกรณ์ประเภทต่างๆ บรรจุทรัพยากรสารสนเทศ เคลื่อนย้ายไปยังสถานที่ต่างๆ เช่นกล่องหนังสือ ถุงหนังสือ ย่ามหนังสือ กระเป๋าหนังสือเป็นต้น
           ส่วนใหญ่ การดำเนินการห้องสมุดเคลื่อนที่ของประเทศไทยอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานด้านการศึกษาของรัฐ เช่น  กระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งเป็นงานบริการประเภทหนึ่งของห้องสมุดประชาชน ยิ่งกว่านั้น ปัจจุบันห้องสมุดของมหาวิทยาลัย ภาควิชาบรรรารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ รวมทั้งชมรมนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ได้ให้ความสำคัญกับห้องสมุดเคลื่อนที่ มีการจัดโครงการหลายโครงการที่เข้าข่ายห้องสมุดเคลื่อนที่
           การดำเนินงานห้องสมุดเคลื่อนที่จะประสบผลสำเร็จได้นั้น หน่วยงานที่ดำเนินการ ควรประสานขอความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งกลุ่มบุคคลหรือบุคคลที่เป็นผู้นำชุมชน เช่น พระ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น สำหรับการขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานเอกชน อาจเป็นการขอรับการสนับสนุนพาหนะ วัสดุอุปกรณ์และงบประมาณในการดำเนินงาน
            การจัดกิจกรรมห้องสมุดเคลื่อนที่ เป็นการจัดบริการโดยใช้แนวคิดทั้งงานห้องสมุดและศูนย์การเรียน ซึ่งอาจจัดการเรียนการสอนหลักสูตรสั้นๆ ร่วมไปกับงานบริการพื้นฐานของห้องสมุด เช่น บริการการอ่าน บริการยืม-คืน เป็นต้น นอกจากนี้ อาจเป็นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการใช้บริการในการออกให้บริการห้องสมุดเคลื่อนที่แต่ละครั้งด้วย
 ความสำคัญของห้องสมุดเคลื่อนที่
            ห้องสมุดเคลื่อนที่นับเป็นรูปแบบหนึ่งของกาารบริการความรู้สู่ชุมชน ที่มีความสำคัญในด้านต่างๆดังนี้
            1.  เป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง และส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตแก่ประชาชน เพื่อพัฒนาตนเอง สังคมประเทศชาติต่อไป ทั้งนี้เพราะห้องสมุดเคลื่อนที่มีลักษณะเคลื่อนย้ายความรู้ไปสู่พื้นที่ต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับแนวศึกษาสมัยใหม่ของรัฐ โดยเห็นได้จากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 หมวดที่ 4 มาตราที่ 25 ระบุ ไว้ว่า “ รัฐต้องส่งเสริมการดำเนินงานและการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบ ได้แก่ ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์กีฬาและนันทนาการ และแหล่งเรียนรู้อื่นอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ” (สำนักคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ 2542 : 14)
            2.  เป็นการขยายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งสารสนเทศ ทำให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลความเจริญ การคมนาคมไม่สะดวก และด้อยโอกาสในการเข้าถึงแหล่งสารสนเทศได้มีโอกาสสามารถรับรู้ข่าวสารในสาขาวิชาการต่างๆ ได้มากขึ้น
            3.  เป็นการส่งเสริมการอ่านให้ประชาชนได้รับความรู้ความเพลิดเพลินจากการอ่าน เห็นคุณค่าของการอ่าน และปลูกฝังนิสัยรักการอ่านรวมทั้งป้องกันการไม่รู้และการลืมการรู้หนังสือ
            4.  เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เพื่อพัฒนาตนเอง อันเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าของสังคมและประเทศชาติต่อไป
 ประเภทของห้องสมุดเคลื่อนที่
            ห้องสมุดเคลื่อนที่สามารถดำเนินการได้ในหลายลักษณะทั้งทางบกและทางน้ำ  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพการคมนาคมหรือท้องถิ่นที่ชุมชนตั้งอยู่ เท่าที่ผ่านมาหน่วยงานหลายแห่งได้จัดห้องสมุดเคลื่อนที่ในลักษณะต่างๆ ห้องสมุดเคลื่อนที่บางแห่งยุติการดำเนินงานไปแล้ว บางแห่งยังคงดำเนินการอยู่ ซึ่งเป็นจุดด้อยของห้องสมุดเคลื่อนที่ ที่มักดำเนินการไม่ต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลจากการขาดการเอาใจใส่ การขาดงบประมาณและบุคลากรในการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
1.  ห้องสมุดเคลื่อนที่ทางน้ำ
     เป็นการบริการที่มุ่งอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำ โดยใช้เรือเป็นพาหนะ หรือที่เรียกว่าห้องสมุดเรือหรือห้องสมุดลอยน้ำ เพื่อบริการแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตลุ่มน้ำหรือตามริมน้ำ เนื่องจากประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำ มีวิถิชีวิตและการเดินทางสัญจร โดยทางน้ำเป็นหลัก ปัจจุบันหน่วยงานที่จัดห้องสมุดเคลื่อนที่ที่น่าสนใจคือ
           -   เรือห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติ ดำเนินการโดยกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้รับความร่วมมือจากกองทัพเรือมอบเรือที่ปลดระวางการใช้งานแล้วและดัดแปลงเป็นห้องสมุดเคลื่อนที่ ทรัพยากรสารสนเทศที่ให้บริการ ประกอบด้วยหนังสือหลากหลายประเภท วีดิทัศน์และบทเรียนสำเร็จรูป บริการสารสนเทศที่จัดคือ บริการการอ่าน บริการยืม-คืน บริการจองหนังสือ ส่วนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการใช้บริการนั้นมีหลายลักษณะ อาทิ การแข่งขันตอบปัญหาชิงรางวัล การวาดภาพ การแข่งขันการอ่านและการเขียน เป็นต้น
                         การให้บริการจะแล่นลอยลำไปให้บริการตาามจุดต่างๆ ที่กำหนดไว้ ในแต่ละวันจอดให้บริการตาม ท่าที่กำหนด ทั้งนี้จะมีตาราง ประชาสัมพันธ์การให้บริการล่วงหน้า
                   -  เรือนางนพมาศ ดำเนินการโดยกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเรือขนาด 2 ชั้น รูปแบบของกิจกรรมการให้บริการแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะได้แก่เป็นห้องสมุดเคลื่อนที่และศูนย์การเรียนเคลื่อนที่ทางน้ำ
           การจัดบริการเรือนางนพมาศนั้น มีการจัดทรัพยากรสารสนเทศหลายประเภท โดยเน้นหนังสือที่มีเนื้อหาสอดคล้อง กับชีวิตประชาชนริมน้ำที่เกี่ยวกับด้านสุขภาพอนามัย กฎหมายที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน เช่น กฎหมายแรงงาน กฎหมายครอบครัว กฎหมายที่ดิน เป็นต้น รวมทั้งหนังสือด้านประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของกรุงเทพมหานคร วัฒนธรรม ประเพณี และอารยธรรมแถบลุ่มน้ำ นอกจากนี้มีสื่อโสตทัศน์ประเภทวีดิทัศน์ และแถบเสียงที่มีเนื้อหาส่งเสริมด้านอาชีพ สารคดี ธรรมะและบันเทิง
2.  ห้องสมุดเคลื่อนที่ทางบก
           เป็นการจัดห้องสมุดเคลื่อนที่โดยใช้รถประเภทต่างๆ เป็นพาหนะให้บริการเคลื่อนที่ไปตามชุมชนในท้องที่ต่างๆ ทั้งในชนบทและในเขตเมือง เช่น ชุมชนแออัด เขตก่อสร้าง โรงงานเป็นต้น ห้องสมุดเคลื่อนที่ทางบกที่น่าสนใจคือ
           -  รถห้องสมุดศูนย์การเรียนเคลื่อนที่  เป็นห้องสมุดเคลื่อนที่ที่ใช้รถประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเป็นพาหนะ  และดำเนินการโดยกระทรวงศึกษาธิการ มีรถใช้ดำเนินการอยู่ 3 คัน รถแต่ละคันจัดบริการแตกต่างกัน รถคันที่ 1 สำหรับบริการเด็กในชุมชนแออัด เขตก้อสร้าง มูลนิธิสงเคราะห์ต่างๆ และโรงเรียนที่ขาดแคลนหนังสือ โดยจัดบริการเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร รถคันที่ 2 บริการกลุ่มนักศึกษาการศึกษานอกระบบที่มีการจัดกิจกรรมการพบกลุ่ม โดยจัดในบริเวณโรงเรียน  วัด  โรงงาน  ส่วนรถคันที่ 3 สำหรับบริการประชาชนทั่วไป โดยจัดตามสถานที่ต่างๆ เช่นบ้านคนชราบางแค ชุมชนแออัด ฯลฯ ทั้งนี้ทรัพยากรสารสนเทศ และกิจกรรมที่จัดในรถแต่ละคันจะเลือกหนังสือและกิจกรรมที่เหมาะสม กับกลุ่มเป้าหมายที่มาใช้บริการ
        -  ห้องสมุดเคลื่อนที่รถพ่วงขนาดเล็ก  เป็นห้องสมุดที่ใช้รถพ่วงขนาดเล็กเป็นพาหนะ ดำเนินการโดยศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร โดยดัดแปลงภายในเป็นชั้นหนังสือ ด้านข้างของรถทั้ง 2 ด้าน เป็นบอร์ดนิทรรศการ ทรัพยากรสารสนเทศที่ให้บริการ ประกอบด้วยหนังสือที่เน้นหนังสือเด็ก หนังสือแนะนำอาชีพ วีดิทัศน์ และเกมส์ต่างๆ นอกจากบริการห้องสมุดแล้ว ยังมีการฝึกฝนอาชีพง่ายๆ  เช่น การตัดผม การซ่อมรถ เป็นต้น การออกให้บริการจะหมุนเวียนไปในชนบทที่ขาดแคลน การรับรู้ข่าวสารประมาณเดือนละ 2-3 ครั้ง
     นอกจากนี้ การจัดห้องสมุดเคลื่อนที่ยังสามารถดำเนินการได้โดยนำทรัพยากรสารสนเทศ บรรจุใส่ในอุปกรณ์ประเภทต่างๆ นำเคลื่อนย้ายออกให้บริการในสถานที่ต่างๆ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ บรรจุทรัพยากรสารสนเทศเคลื่อนที่ไปให้บริการในที่ต่างๆ มีหลายประเภท ตัวอย่างโครงการห้องสมุดเคลื่อนที่ที่ใช้วัสดุ  อุปกรณ์บรรจุทรัพยากรสารสนเทศที่น่าสนใจ คือ
    -  โครงการชุดความรู้สู่ชนบท ของสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ใช้กล่องหนังสือเคลื่อนย้ายไปสถานที่ต่างๆ ภายในกล่องบรรจุหนังสือ แผ่นพับ ภาพ ฯลฯ  โยแต่ละกล่องมีหัวเรื่องกำกับไว้ชัดเจน  ภายใต้ฝาเปิด -   ปิด แต่ละกล่องมีการแจ้งรายการวัสดุ ที่อยู่ภายในกล่อง ผู้ประสงค์ใช้บริการสามารถเลือกอ่านตามความสนใจ และความต้องการ หนังสือมีหลายประเภท เช่น หนังสือเด็ก การวางแผนครอบครัว สุขภาพอนามัย ยาเสพติด ฯลฯ โดยนำกล่องหนังสือไปไว้ ณ ที่อ่านประจำหมมู่บ้าน โดยมีผู้นำชุมชนเช่น กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้รับผิดชอบในการให้บริการยืม-คืน ตลอดจนผู้ใช้สามารถ ยืมย่ามความรู้ไปอ่านที่บ้านได้ด้วย โดยกำหนดช่วงเวลา การยืมและการหมุนเวียน ไปในจุดต่างๆ ตามกำหนด
   -  โครงการส่งเสริมการอ่านของสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ใช้ย่ามบรรจุทรัพยากร สารสนเทศเคลื่อนย้านไปในสถานที่ต่างๆ ย่ามความรู้จัดแจกเป็นใบๆ ตามหัวข้อเรื่องที่กำหนดผุ้ใช้บริการสามารถเลือกย่ามความรู้ในหัวข้อเรื่องตามความสนใจ จัดให้บริการตามห้องสมุดโรงเรียนในชนบท  โดยมีครูบรรณารักษ์รับผิดชอบในบริการ ยืม-คืน ตลอดจนผู้ใช้สามมารถยืมย่ามความรู้ไปอ่านที่บ้านได้ด้วย โดยกำหนดช่วงเวลาการยืมและการหมุนเวียน ทั้งนี้จะเปลี่ยนทรัพยากรสารสนเทศในย่ามความรู้สม่ำเสมอ
   -  ห้องสมุดเคลื่อนที่ของศูนย์วิทยพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช ปัจจุบันมีศูนย์วิทพัฒนา จำนวน 10 ศูนย์ กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ  การให้บริการมีลักษณะเช่น ใช้กระเป๋าหนังสือทำด้วยไม้บรรจุทรัพยากรสารสนเทศ เคลื่อนย้ายไปสถานที่ต่างๆ ที่กำหนดพร้อมการทำกิจกรรมอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย
  -  ห้องสมุดเคลื่อนที่ของห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี จังหวัดนครราชสีมา ใช้ถุงหนังสือบรรจุ ทรัพยากรสารสนเทศเคลื่อนที่ ให้บริการรแก่ประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษาทั้งในและนอก ระบบโรงเรียน โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเด็กด้อยโอกาส คนพิการ ผู้ที่อยู่ห่างไกลจากห้องสมุดหรืออาจจะมาใช้ห้องสมุดไม่สะดวก เพื่อวัตถุประสงค์ เพื่อวัตถุประสงค์ให้ได้รับข่าวสารที่ทันสมัย รวมทั้งส่งเสริมการเรียนและการอ่าาน ภายในถุงหนังสือบรรจุ หนังสือประภทต่างๆ โดยมีอาสาสมัครบริการถุงหนังสือ เคลื่อนที่ไปบริการในชุมชน มีกำหนดระยะเวลาการเปลี่ยนทรัพยากรสารสนเทศในถุง

รูปแบบและวิธีดำเนินงานห้องสมุดเคลื่อนที่
      ห้องสมุดเคลื่อนที่ สามาดำเนินการได้ทั้งทางบกและทางน้ำโดยใช้พาหนะแตกต่างกัน ได้แก่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เกวียน หรือเรือ ทั้งนี้แล้วแต่สภาพการคมนาคมหรือท้องถิ่นที่ชุมชนนั้นตั้งอยู่ และเรียกชื่อแตกต่างกันออกไป เช่น ตู้หนังสือเคลื่อนที่ หีบหนังสือสู่ประตูบ้าน หรือหนังสือมีขา เป็นต้น
รูปแบบหนังสือเคลื่อนที่
ห้องสมุดเคลื่อนที่สามารถจัดได้หลายรูปแบบ ที่สำคัญได้แก่
1. กระเป๋าหนังสือเคลื่อนที่ จัดโดยการคัดเลือกหนังสือใส่กระเป๋า ซึ่งอาจทำโดยผ้าหรือไม้ขนาดต่างๆ กันแล้วแต่ขนาดของสถานที่ที่จะนำออกไปให้บริการ กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนที่ด้อยโอกาสในการเข้าถึงข่าวสารและด้อยโอกาสในการศึกษา เช่น ชาวชนบท ชาวเขา ที่ดำเนินการห้องสมุดเคลื่อนที่ในรูปแบบนี้ ได้แก่ โครงการหนังสือสัญจรสำหรับผู้ใช้แรงงาน สโมสรเด็กเคลื่อนที่ โครงการหนังสือสัญจรเพื่อเด็กในชนบทและเด็กในโรงเรียนของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กระเป๋าหนังสือเคลื่อนที่ของสมาคมพัฒนาการอ่านของเด็ก เป็นต้น


ภาพที่ 1.1 บริการในรูปแบบกระเป๋าหนังสือเคลื่อนที่
2. หีบหนังสือ จัดโดยการคัดเลือกหนังสือประเภทต่างๆ ใส่หีบซึ่งอาจทำด้วยอีบุก ไม้ หรือสังกะสี แล้วนำออกไปให้บริการแก่ประชาชนถึงที่อยู่อาศัย เช่น โครงการหีบหนังสือสู่ประตูบ้าน โครงการหีบอีบุกบรรจุหนังสือ หรือโครงการหีบหนังสือ ซึ่งให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป


ภาพที่ 2.1 บริการในรูปแบบหีบหนังสือ
3. ถุงหนังสือ เป็นบริการห้องสมุดเคลื่อนที่ของกรมการศึกษานอกโรงเรียน ที่จัดขึ้นโดยใช้ถุงบรรจุหนังสือประมาณ 20 เล่ม หมุนเวียนให้ชาวบ้านในชนบทได้อ่าน โดยมีครูอาสาสมัครเป็นผู้เดินแจก
ภาพที่ 3.1 บริการในรูปแบบถุงหนังสือ
4. ห้องสมุดเรือหรือห้องสมุดลอยน้ำ เป็นบริการที่จัดให้ประชาชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำ หรือทะเล เช่น ห้องสมุดเรือของโครงการศึกษานอกโรงเรียน เรือควีนอลิซาเบทที่ 2 ซึ่งเป็นเรือโดยสารข้ามทวีปที่มีห้องสมุดอยู่บนดาดฟ้าของเรือ                    
                                             
ภาพที่ 4.1 บริการในรูปแบบห้องสมุดเรือหรือห้องสมุดลอยน้ำ

5. รถยนต์เคลื่อนที่ เป็นห้องสมุดเคลื่อนที่ที่จัดโดยใช้รถยนต์บรรทุกหนังสือออกให้บริการแก่ประชาชนที่อยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ ทั้งในชนบทและในเมือง เช่น โครงการห้องสมุดเคลื่อนที่เพื่อชุมชนในชนบท โครงการห้องสมุดเคลื่อนที่สำหรับชุมชนชาวเขา โครงการตู้หนังสือเคลื่อนที่สำหรับเด็ก   
                      
         ภาพที่ 5.1 บริการในรูปแบบรถยนต์เคลื่อนที่
6. ห้องสมุดรถไฟ เป็นการจัดบริการหนังสือให้แก่ประชาชนที่เดินทางด้วยรถไฟ เช่น โครงการส่งเสริมการอ่านบนรถไฟ


ภาพที่ 6.1 บริการในรูปแบบห้องสมุดรถไฟ
บริการห้องสมุดเคลื่อนที่นั้นสามารถจัดได้หลายรูปแบบแตกต่างกันตามสภาพของท้องถิ่น แต่เป้าหมายที่สำคัญคือ การให้ข่าวสารและความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อการส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญา เพื่อความเพลิดเพลิน และเพื่อพัฒนาทักษะทางวิชาชีพของประชาชนกลุ่มเป้าหมาย หรือบุคคลอื่นๆ เพื่อร่วมจัดกิจกรรมและเพื่อการประชาสัมพันธ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น